อาการ

อาการ


โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไรบ้าง?

อาการของโรคซึมเศร้าและความรุนแรงที่เกิดกับผู้ป่วยแต่ละรายนั้นแตกต่างกันออกไป บางคนอาจแสดงอาการเศร้า เบื่อ เหงาผิดปกติ แสดงอาการเพียงไม่กี่อย่าง ในขณะที่บางคนแสดงหลายอาการร่วมกัน บางคนอาจรุนแรงถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย และแม้จะถูกเรียว่าโรคซึมเศร้า แต่ผู้ป่วยบางคนอาจไม่แสดงออกถึงความรู้สึกเศร้าตรง ๆ ก็ได้ โดยอาการของโรคซึมเศร้าที่อาจเกิดขึ้นมีดังนี้

1.ด้านจิตใจและอารมณ์อาการของโรคซึมเศร้าในด้านจิตใจและอารมณ์ เช่น

                   - รู้สึกหดหู่ เศร้า ตลอดเวลา

                   - รู้สึกสิ้นหวัง ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองไม่ไหว

                  - มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกว่าตนไร้ค่า โดดเดี่ยว และมีความรู้สึกผิด

                  - ขาดสมาธิในการจดจ่อ จดจำ หรือการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ

                  - กระสับกระส่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย

                  - มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง

2.ด้านร่างกาย อาการของโรคซึมเศร้าในด้านร่างกาย เช่น

                   -นอนหลับยาก ตื่นเช้า หรือนอนนานกว่าปกติ

                  - อาจรู้สึกอยากอาหารหรือไม่อยากอาหาร น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลง

                  - ความสนใจเรื่องเพศลดลง

                  - เคลื่อนไหวหรือพูดจาช้ากว่าปกติ

                  - รู้สึกอ่อนล้า เอื่อยเฉื่อย เหนื่อยตลอดเวลา

                  - เจ็บปวดตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ

                  - รอบเดือนผิดปกติ

                  - ท้องผูก

3.ด้านพฤติกรรม อาการของโรคซึมเศร้าในด้านพฤติกรรม เช่น

                               - ทำงานได้ไม่ดีหรือไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม

                                - เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมน้อยลง แยกตัว ไม่ค่อยออกไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อน หรือคนอื่นๆ

                                - หมดความสนใจในกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่เคยสนใจ

                               - อาจหันไปพึ่งสารเสพติด

นอกจากนี้ อาการของภาวะซึมเศร้ายังมีอาการที่แตกต่างกันไปตามอายุและเพศของผู้ป่วยด้วย ดังนี้

                  1. อาการซึมเศร้าในผู้ชาย ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจพบอาการเกิดภาวะนกเขาไม่ขันได้ (Erectile Dysfunction) อาจมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากขึ้น รวมถึงอาจมีอาการในลักษณะเซื่องซึม เก็บตัว หงุดหงิด หรือฉุนเฉียวง่ายผิดปกติ

                  2. อาการซึมเศร้าในผู้หญิง มักพบการป่วยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องมาจากปัจจัยทางด้านชีวภาพ ฮอร์โมน และด้านจิตวิทยาที่ต่างกัน โดยผู้หญิงมักแสดงอาการในลักษณะของอารมณ์เศร้า เกิดความรู้สึกผิด รู้สึกไร้ค่า ภาวะซึมเศร้าในผู้หญิงนี้สามารถได้รับผลกระทบจากฮอร์โมนระหว่างการมีรอบเดือน วัยหมดประจำเดือน และหลังการคลอดบุตรได้ด้วย

                  3. อาการซึมเศร้าในวัยรุ่น อาการซึมเศร้าในวัยรุ่นมักสังเกตได้จากการบึ้งตึง หงุดหงิดง่าย มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกไม่ได้รับการเข้าใจ มีปัญหาเกี่ยวกับการเรียน รวมถึงเด็กบางคนอาจถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนคนอื่น ๆอาการจากภาวะซึมเศร้าอาจคล้ายคลึงกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติในวัยรุ่น ให้สังเกตว่ามีอาการดังกล่าวมาเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ รวมถึงระดับความรุนแรงของอาการหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากปกตินอกจากนี้ วัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอาจมีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น วิตกกังวล กินมากกว่าปกติ หรือใช้สารเสพติด 

                  4.อาการซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุมักแสดงอาการของภาวะซึมเศร้าทางด้านร่างกายมากกว่าทางอารมณ์หรืออาการซึมเศร้าโดยทั่วไป เช่น เจ็บปวดตามร่างกายอย่างไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อยล้า มีปัญหาในการนอนหลับและการจดจำ หงุดหงิดง่ายขี้บ่น รวมถึงอาจมีอาการเพิกเฉยต่อลักษณะทางภายนอกของตนเอง ไม่ดูแลตัวเอง และไม่ยอมรับประทานยารักษาโรคประจำตัวที่เป็นอยู่